รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2559

 

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 – 3.6) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง โครงการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาระบบขนส่งทางถนน กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.6 – 9.2) เช่นเดียวกับการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 – 3.5) สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 – 2.4) ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าตามแนวโน้มการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวม และการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7 – 3.3) ตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นตาม นอกจากนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงและนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนอย่างต่อเนื่องยังมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่สนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศนั้นคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะกลับมาเติบโตในอัตราร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 – 3.5) ฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกบริการที่คาดว่าจะขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการส่งออก ที่คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากที่คาดการณ์ครั้งก่อน ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 – 0.7) สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้จ่ายภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้นและการฟื้นตัวของภาคการส่งออก นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0 – 0.6) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงมีทิศทางลดลง อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันยังคงชะลอตัวจากการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ในส่วนของอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 – 0.9 ของกำลังแรงงานรวม) สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 38.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 9.7 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.4 ถึง 10.0 ของ GDP) โดยดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุล 41.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 40.8 – 41.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -0.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.0 ถึง -0.4) ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -4.8 ถึง -4.2)

ที่มา : กระทรวงการคลัง